คำถามที่พบบ่อย

คำถามยอดฮิตเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด 19

  1. 1.เว็บไซต์นี้เป็นการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบหรือไม่?

    *สรุปผลงานวิจัยเหล่านี้ไม่ใช่การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ การสรุปผลงานวิจัยฉบับนี้ได้รับการแปลและจัดทำ โดยทีม Covid Vaccines Thailand ซึ่งประกอบไปด้วยทีมแพทย์และนักวิจัยไม่กี่ท่าน มีความตั้งใจหลักเพื่อสนับสนุนให้ คนไทยมีช่องทางเขาถึงแหล่งข้อมูลต้นทาง เช่น ลิ้งค์งานวิจัยที่ตีพิมพ์ หรือลิ้งค์ประกาศทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาหรือตามอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด19 ด้วยตนเอง โดยไม่มีจุดประสงค์ทางการค้า ใดใด สรุปผลงานวิจัยแต่ละชิ้นอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่เหมือนกัน 100% เนื่องจากมีทีมสรุปหลายท่านภายใต้การตรวจ สอบคุณภาพและความถูกต้อง มิควรแก้ไขข้อมูลสรุปผลงานวิจัยเหล่านี้เพื่อชักนำไปในทางที่ผิดหรือเพื่อจุดประสงค์อื่น

    หากท่านมีคำถาม มีข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ สังเกตเห็นข้อผิดพลาดในการแปล พิมพ์ตกหล่น ต้องการความช่วยเหลือ หรือ อยากอาสาเข้ารวมทีม สามารถติดต่อมาได้ที่ covidvacth@gmail.com พวกเรายินดีตอบกลับ 😀

    *หมายเหตุ: เนื่องจากตามรายงานยอดฉีดวัคซีนของกรมควบคุมโรคมีการอัพเดตเปลี่ยนจากรายวันเป็นรายสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ CovidVacTH.com จะมีการอัพเดตจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นรายสัปดาห์ตามไปด้วย

    ขอขอบคุณ
    ทีม Covid Vaccines Thailand

    ตอบโดย : ทีม Covid Vaccines Thailand
  2. 2.แนวทางการให้วัคซีนโควิด19 ของประเทศไทย

    คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565)

    • สูตรการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ เข็ม 2 

    แหล่งที่มา: https://web.facebook.com/photo?fbid=282954973983500&set=a.249595710652760

     

    • สูตรวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็ม 3 (Booster dose) สำหรับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป 

    แหล่งที่มา: https://web.facebook.com/photo/?fbid=283015247310806&set=a.249595700652761

     

    • สูตรวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็ม 4 (Booster dose) สำหรับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป 

    แหล่งที่มา: https://web.facebook.com/photo/?fbid=283069097305421&set=a.249595700652761

    ตอบโดย : ทีม Covid Vaccines Thailand
  3. 3.ข้อมูลทั่วไปของการฉีดวัคซีนโควิด 19
    1. การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มบุคคลต่างๆ
      รัฐบาลได้มีนโยบายให้ประชากรทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย (ทั้งคนไทยและต่างชาติ) ได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร ภายในปี พ.ศ.2564 แต่ในช่วงที่มีจำนวนวัคซีนจำกัด อาจกำหนดให้วัคซีนในบุคคลกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรือมีภาวะที่จะเป็นโรครุนแรงก่อน ได้แก่

      1.  บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
      2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดรังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจิตเวช ออทิสติก ผู้ที่ดูแลตัวเองไม่ได้รวมถึงผู้ดูแล
      3. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
      4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) / อาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.)
      5. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด
      6. ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังมีการระบาด
    2. วัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย
      1. วัคซีนป้องกันโควิด 19 แอสตร้าเซนเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ โดยให้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์
      2. วัคซีนโคโรนาแวค หรือ ซิโนแวค (CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine) เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งขณะนี้กำหนดให้ในผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี
        โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์
    3. อาการข้างเคียงที่เกิดจากการรับวัคซีน หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
      จากการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด 19 แต่ละชนิด มักพบเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัคซีนเหล่านี้จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ามีความปลอดภัยและให้ใช้ได้แล้วก็ตาม แต่การฉีดวัคซีนเหล่านี้ก็ยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ในอัตราที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาทีในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดวัคซีนเสมอและเนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่และยังไม่มีข้อมูลการติดตามผลในระยะยาว หากผู้รับวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่มั่นใจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ควรแนะนำให้ผู้รับวัคซีนปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง และเกิดขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน (Adverse event following immunization)
    4. มีข้อห้ามและข้อควรระวังอะไรบ้างในการฉีดวัคซีนโควิด 19
      วัคซีนทุกชนิดมีข้อห้ามคือ แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนและเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่จึงอาจไม่มีความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ที่พบไม่บ่อย ในช่วงแรกจึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ควรใช้วัคซีนแก่กลุ่มประชากรตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำเท่านั้น นอกจากนี้ ไม่ควรฉีดวัคซีนในกรณีดังนี้
      – ขณะที่กำลังป่วย หรือร่างกายอ่อนเพลียจากสาเหตุต่าง ๆ ควรเลื่อนการฉีดไปก่อนจนกว่าจะเป็นปกติแล้ว
      – ในกลุ่มอายุที่ไม่ได้รับการรับรอง
      – ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (แต่ฉีดในหญิงหลังคลอดหรือให้นมบุตรได้)- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่รุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตที่อาการยังไม่คงที่ มีโรคกำเริบ นอกจากแพทย์ประจำประเมินว่าฉีดได้
    5. คำแนะนำในการปฏิบัติตนของผู้รับวัคซีน โควิด 19
      1. การเตรียมตัวก่อนรับวัคซีนโควิด 19 มีอะไรบ้าง
        : ปฏิบัติตัวตามปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาประจำได้ตามปกติ ทำจิตใจให้ไม่เครียดหรือวิตกกังวล หากเจ็บป่วยไม่สบาย ควรเลื่อนการฉีดไปก่อน
      2. ก่อนฉีดวัคซีนจำเป็นต้องดื่มน้ำมาก ๆ หรือไม่
        : ไม่จำเป็น
      3. ก่อนฉีดวัคซีน จำเป็นต้อง งดดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอลล์ หรืองดการออกกำลังหรือไม่
        : ไม่จำเป็นต้องงดชา กาแฟ แต่ควรงดเครื่องดื่มมืนเมา ส่วนการออกกำล้งกายสามารถทำได้ตามปรกติ
      4. ผู้รับวัคซีนโควิด 19 หลังรับวัคซีน สามารถรับประทานยาลดไข้ แก้ปวด ได้หรือไม่
        : รับประทานได้ โดยยาลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุดคือ พาราเซตามอล ภายในขนาดที่กำหนด
    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  4. 4.สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่

    สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้

    ดังนั้น จึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เสมอ แม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด 19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม เพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากอย่างเพียงพอ (หากติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบแล้วสองเข็ม อาจพิจารณาไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนอีกภายในปี 2564 รอดูผลการศึกษาต่อไปในต้นปี 2565)

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  5. 5.สามารถฉีดวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมรอตีบ-บาดทะยัก วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน พร้อมกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในคราวเดียวกันได้หรือไม่ หากไม่สามารถให้พร้อมกันได้ ควรเว้นระยะห่างนานเท่าไหร่

    เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เว้นระยะระหว่างวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการตอบสนองต่อวัคซีนที่ฉีดตามมา โดยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ก่อนวัคซีนอื่น ๆ อย่างไรก็ดีวัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้าเมื่อถูกสัตว์กัด หรือวัคซีนบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล ให้ฉีดวัคซีนได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลา และในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด 19 ให้ฉีดวัคซีนทันทีที่ทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงซึ่งต้องคำนึงถึงมากกว่า

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  6. 6.หากเคยฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว ยังต้องมีการฉีดซ้ำเหมือนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกหรือไม่

    ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลวัคซีนโควิด 19 ต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในระยะยาว จึงยังไม่มีคำแนะนำในขณะนี้

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  7. 7.วัคซีนฉีดแล้วสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่

    วัคซีนที่ผลิตในปัจจุบันพัฒนามาจากไวรัสที่ระบาดในช่วงแรก จึงอาจทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ลดลง อย่างไรก็ดีผลกระทบของไวรัสกลายพันธุ์ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป อาจเป็นไปได้ว่าต้องมีการฉีดวัคซีนต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ซ้ำในอนาคต

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  8. 8.เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้เมื่อเป็นโรคมีอาการรุนแรงน้อยลงหรือไม่

    วัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่ป้องกันโรครุนแรงได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมากได้

    ดังนั้นหลังฉีดวัคซีนจึงยังจำเป็นต้องรักษามาตรการในการป้องกันเชื้อในชุมชน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางกายภาพ หลีกเลี่ยงการไปยังที่ที่มีคนหนาแน่น และล้างมือบ่อย ๆ ต่อไปอย่างเคร่งครัด จนกว่าจะมีความมั่นใจว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดจะมีภูมิคุ้มกันโรคแล้ว จึงจะสามารถลดหย่อนมาตรการได้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ให้คำแนะนำต่อไป

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  9. 9.คำถามที่พบบ่อยสำหรับสตรี
    1. ผู้มีประจำเดือนสามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่
      ตอบ การมีประจำเดือนไม่เป็นข้อห้ามในการรับวัคซีนโควิด 19
    2. หญิงตั้งครรภ์ สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่
      ตอบ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ สามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกชนิดที่มีในขณะนี้ เมื่อมีอายุครรภ์ มากกว่า 12 สัปดาห์ เป็นต้นไป
    3. ฉีดวัคซีนแล้วต้องคุมกำเนิดนานเท่าไหร่หลังฉีดวัควีนจึงจะตั้งครรภ์ได้
      ตอบ ไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิด สามารถตั้งครรภ์ หลังฉีดวัคซีนโควิด 19
    4. ถ้าฉีดวัคซีนแล้วพบว่าตั้งครรภ์จะทำอย่างไร
      ตอบ ไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ภายหลังฉีดวัคซีน เพราะการศึกษาที่มีบ่งชี้ว่า วัคซีนไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หรือการ ตั้งครรภ์ ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 ครั้งที่ 2 ได้ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
    5. หญิงให้นมบุตรสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่
      ตอบ หญิงให้นมบุตร สามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกชนิดที่มีในขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องงดนมแม่หลังฉีดวัคซีน
    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  10. 10.ระยะห่างของวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 และ 2 นานที่สุดเป็นเท่าใด และในกรณีที่กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนครั้งที่ 2 เกินกำหนดระยะห่างจากครั้งที่ 1 มากกว่า 4 สัปดาห์ ควรดำเนินการอย่างไร

    ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ของวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Sinovac คือ 2-4 สัปดาห์
    สำหรับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca คือ 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น
    หากกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนล่าช้า ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามให้กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนโควิด 19 ในครั้งที่ 2 โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องได้เลย

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  11. 11.ในกรณีที่ผู้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac ครั้งที่ 1 มีอาการชาแขนขา หรืออ่อนแรงด้านที่ฉีดวัคซีน สามารถรับวัคซีนของบริษัท Sinovac ในครั้งที่ 2 ได้หรือไม่

    อาการชา อ่อนแรง หรืออาการคล้ายอาการของระบบประสาทอื่น ๆ ที่เป็นอาการชั่วคราว ไม่มีพยาธิสภาพเกิดขึ้น และหายเป็นปกติ อาการเหล่านี้ไม่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเดิมในเข็มที่ 2 แต่หากมีอาการรุนแรงและกังวล ควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 2

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  12. 12.ในกรณีที่ผู้รับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca มีอาการแพ้วัคซีน และมีอายุเกิน 60 ปี จะสามารถฉีดวัคซีนของบริษัท Sinovac ได้หรือไม่ และควรเว้นช่วงห่างเท่าไหร่

    สามารถให้วัคซีนของบริษัท Sinovac แทนได้ โดยเว้นช่วงห่าง 10-16 สัปดาห์ (ตามระยะห่างของ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca เข็ม 1 และ เข็ม 2) การเว้นช่วงห่างระหว่างวัคซีนเข็ม 2 จากวัคซีนเข็ม 1 ในกรณีเปลี่ยนชนิดของวัคซีนให้พิจารณาตามชนิดของวัคซีนที่ฉีดเป็นเข็มที่ 1 เป็นหลัก

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  13. 13.หากฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว แต่มาทราบภายหลังว่าเพิ่งได้รับวัคซีนอื่นไปก่อนหน้านี้ภายในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ต้องทำอย่างไร

    ไม่ต้องให้วัคซีนซ้ำหรือให้การรักษาใดๆ แต่ให้สังเกตอาการ และนับต่อเนื่องไปเลย

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  14. 14.ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รับประทานยาและมีอาการคงที่หลังฉีดวัคซีนมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ความดันสูง สูงขึ้นกว่าปกติและมีอาการชาที่ใบหน้าข้างขวาเล็กน้อย สามารถให้วัคซีนโควิด 19 ครั้งที่ 2 ได้หรือไม่

    ควรให้วัคซีนเข็มที่ 2 แต่ควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนหากมีปฏิกิริยามากในเข็มแรก

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  15. 15.สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่

    สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ครั้งต่อไป และยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้

    ดังนั้น จึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เสมอ แม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด 19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
  16. 16.มีปัญหาลงทะเบียนหมอพร้อมของโรงพยาบาลโทรติดต่อใครได้บ้าง

    หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ “หมอพร้อม” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์ประสานงานข้อมูลหมอพร้อม (MOHPROMT Contact Center) หมายเลขโทรศัพท์ 0-2792-2333

    ตอบโดย : กรมควบคุมโรค
    อ่านเพิ่มเติม
"ไม่พบข้อมูล โปรดลองค้นหาใหม่อีกครั้ง"